วันพุธที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2555


ปรัชญาและคุณธรรมสำหรับครู และลักษณะครูที่ดี
ปรัชญาและคุณธรรมสำหรับครู


ในความหมายของปรัชญาจัดว่าเป็นแนวอุดมคติในการดำเนินงานใด ๆ โดยใช้ปัญญา

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่คาดหวังไว้ เมื่อบุคคลได้เกิดความสนใจและใฝ่หาความรู้จากวิชาปรัชญาก็ย่อมได้รับอัตถประโยชน์อย่างมากมาย พอสรุปได้ดังนี้

1. ปรัชญาสอนให้รู้จักความจริงอันสิ้นสุด เช่น พระเจ้ามีจริงหรือไม่
2. ปรัชญาสอนให้รู้จักทฤษฎีแห่งความรู้ เช่น การวิจัยจะนำไปสู่การค้นหาคำตอบได้
3. ปรัชญาสอนให้รู้จักความดีและความถูกต้อง เช่น การทำประโยชน์ให้แก่สังคมถือว่าเป็นความดี
4. ปรัชญาสอนให้รู้จักความงาม เช่น การประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่เป็นที่ชื่นชอบของสังคม อันก่อให้เกิดความเพลิดเพลินและเป็นสุขใจ
5. ปรัชญาสอนให้เกิดอุดมคติในการดำเนินชีวิตและการปฏิบัติหน้าที่การงาน เช่น สอนให้บุคคลเป็นครูในอุดมคติ หรือเป็นครูที่มีอุดมการณ์ที่จะช่วยพัฒนาชนบทอย่างแท้จริง
6. ปรัชญาสอนให้รู้จักประเมินคุณค่าในพฤติกรรมของบุคคลว่าถูกต้องและเหมาะสมหรือไม่ 

คุณธรรม จริยธรรมของครู อาจารย์ที่ควรรู้ และควรนำมาปฏิบัติ

          เนื่องจากสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไปจนเกิดผลกระทบต่อการประพฤติปฏิบัติของครู อาจารย์  ทำให้คุณธรรมของครู อาจารย์ตกต่ำ  จนเกิดวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับวิชาชีพครูในขณะนี้  อย่างไรก็ตามครูอาจารย์มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศมากที่สุดวิชาชีพหนึ่ง  ดังนั้นจึงมีการพัฒนาคุณธรรมของครูอาจารย์  เพราะคุณธรรมกับครูเป็นสิ่งที่แยกจากกันไม่ได้  หากครู อาจารย์ขาดคุณธรรมความเป็นปูชนียบุคคลของครู อาจารย์ ก็จะหมดไป
  ความหมายของคุณธรรม
          พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน  พุทธศักราช  2525  ให้ความหมายของคุณธรรมไว้ว่า  เป็นสภาพคุณงามความดี  (ราชบัณฑิตยสถาน.  2525 : 187)
          คาร์เตอร์ วี. กู๊ด  (Carter V. Good.  1973 : 641) ให้ความหมายคุณธรรม ไว้ว่า คุณธรรมคือ คุณลักษณะที่ดีงาม หรือพฤติกรรมที่ปฏิบัติจนเป็นนิสัย และการที่บุคคลได้กระทำตามความคิดและมาตรฐานของสังคมในทางความประพฤติและจริยธรรม

วินัยคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพครู


วินัยคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพครู
                  การประเมินวินัย คุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพครู เพื่อให้ข้าราชการครู และบุคลากรทางทางการศึกษามีและเลื่อนวิทยฐานะ(ชำนาญการพิเศษ) จะประเมินใน 6 เรื่อง ได้แก่
                  1.พฤติกรรมการรักษาระเบียบวินัย ได้แก่ การควบคุมการประพฤติปฏิบัติของตนเองให้อยู่ในกฎระเบียบของหน่วยงานและสังคมในกรณีมีความรับผิดชอบและซื่อตรงต่อการปฏิบัติหน้าที่ โดยยึดถือประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อส่วนรวมเป็นสำคัญ
                  2.การประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี ได้แก่ พฤติกรรมการปฏิบัติทั้งพฤติกรรมส่วนตนและพฤติกรรมการปฏิบ้ติงาน ทั้งในเรื่องความสามัคคีและวิถีประชาธิปไตยในการดำเนินชีวิต
                  3.การดำรงชีวิตอย่างเหมาะสม ได้แก่ การประพฤติปฎิบัติตนในการดำรงชีวิตที่ยึดหลักความพอเพียง การหลีกเลี่ยงอบายมุข การรู้รักสามัคคีและวิถีประชาธิปไตยในการดำเนินชีวิต
                  4.ความรักและศรัทธาในวิชาชีพ ได้แก่ ความพึงพอใจและอุทิศเวลาในการปฏิบัติงานในหน้าที่ด้วยความวิริยะ อุตสาหะ โดยมุ่งผลสำเร็จที่เป็นความเจริญก้าวหน้าของการจัดการศึกษา
                  5.ความรับผิดชอบในวิชาชีพ ได้แก่ การปฏิบัติงานในหน้าที่โดยคำนึงถึงความถูกต้อง ความซื่อสัตย์สุจริต และผลประโยชน์ของหน่วยงานและผู้รับบริการเป็นสำคัญ
                  6.ค่านิยม และอุดมการณ์ของความเป็นครู และบุคลากรทางการศึกษา ได้แก่ ค่านิยมพื้นฐาน 5 ประการ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ฯลฯ